หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) - กระแสใหม่ กระแสไทย (1)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) - กระแสใหม่ กระแสไทย (1)

          https://youtu.be/ru7aVNl94_I?si=Zl0ybh1UwL3j42Zg

          ...พร้อมด้วยท่านกรรมการสภา และคณะผู้บริหาร มีท่านอธิการบดีเป็นผู้นำ กับทั้งท่านที่ปรึกษามหาวิทยาลัย ตลอดจนคณาจารย์ พร้อมทั้งญาติโยมท่านสาธุชนทุกท่าน.

          เบื้องแรกก็ขอขอบพระคุณท่านพระเถรานุเถระ ทุกท่าน โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ ราชวิทยาลัย ที่ได้มีเมตตา ไมตรีธรรม มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม นำปริญญาบัตรมาถวายในวันนี้ นับว่าเป็นน้ำใจอย่างสูงของท่าน ท่านได้ให้เกียรติ หรือในแง่หนึ่งก็คือให้ความสำคัญแก่อาตมาภาพ ถเมองในแง่ของอาตมาภาพเอง นอกจากอนุโมทนาในน้ำใจของท่านเป็นอย่างยิ่งแล้ว ก็รู้สึกเกรงใจเป็นที่สุด เหตุที่เกรงใจก็เพราะว่า ท่านอาจารย์ เริ่มตั้งแต่ท่านนายกสภาเป็นต้นมา ก็เป็นท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ มีภารกิจมาก ท่านก้กรุณาสละเวลามา แล้วก็รวมทั้งได้เตรียมการต่างๆ เพื่อให้มีพิธีในวันนี้ แต่ว่าเมื่อมองอีกแง่หนึ่ง มานึกถึงว่าการที่มีกิจกรรมอย่างนี้ขึ้น ก็เป็นเรื่องของการคำนึงถึงประโยชน์สุข ของสังคมส่วนรวม หรือความเจริญของประเทศชาติ โดยเฉพาะในทางการศึกษา เมื่อมองอย่างนี้ก็ค่อยเบาใจ คือมองในแง่ว่า อ๋อ ก็เป็นการทำกิจกรรมที่ เรามาร่วมมือกัน อย่างน้อยก็เป็นการบอกให้รู้ว่านี่ เราปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ ของสถาบันอุดมศึกษา ในการที่ตจะสร้างเสริม ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ พัฒนาปัญญา ของสังคมไทยเรานี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติต่อไป เท่ากับเป็นสัญญาณมาบอกว่า ให้เรามาสามัคคีกัน ร่วมมือกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ.

เวลานี้ก็ยิ่งเห็นชัด ว่าสังคมนี้กำลังต้องการ ความร่วมมือกันในการที่จะแก้ปัญหา และในการสร้างสรรค์ต่างๆ มีเสียงบ่น พูดกันมากเหลือเกิน แค่มอง อ่านสื่อมวลชน แต่ละวันละวันก็ชัด ว่าเวลานี้เห็นกันว่า สังคมของเรานี้ มีความเสื่อมโทรมหรือตกต่ำเป็นอย่างมาก มองออกไปกว้างทั่วโลก สถานการณ์ก็ไม่น่าไว้วางใจ ยังไม่รู้ว่าจะเกิดสงครามใหญ่ ความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากมายขึ้นเมื่อใด อันนี้เป็นปัญหาร่วมกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกคน แล้วก็เป็นเรื่องที่มีผลระยะยาว มีความหมายต่อเรื่องอารยธรรมของมนุษย์ เหมือนกับในแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องตรวจสอบไปด้วย ว่าอารยธรรมของเราที่สร้างกันขึ้นมานี้ มันนำมาซึ่งสันติสุขแท้จริงหรือเปล่า? หรือแม้กระทั่งว่า เป็นอารยธรรมจริงหรือไม่? อาจจะต้องถึงกับไปตรวจสอบความหมายของคำว่า อารยธรรม กันอีก ว่าอารยธรรมที่แท้นั้น คืออะไร? เพราะว่าแม้แต่คำไทยคำภาษาอังกฤษ ก็ไม่ตรงกันแล้ว

อารยธรรม ธรรมของอารยชน ก็เป็นธรรม คุณสมบัติเป็นต้น ของผู้ที่เจริญ ถ้าใช้ศัพท์ทางพุทธศาสนา แท้ๆ อารยะ ก็คืออริยะ ก็คือผู้ไกลจากกิเลส เพราะฉะนั้นอารยธรรม ก็คือ ธรรมะของผู้ไกลจากกิเลส เรามาดูอารยธรรมปัจจุบันนี้ก็ทำให้ ตั้งข้อสงสัยว่า เป็นคุณสมบัติ เป็นกิจกรรม เป็นการกระทำต่างๆ ของผู้ที่ไกลจากกิเลสหรือไม่?  หรือว่าถ้าจะเอาตามความหมายอย่างฝรั่ง ก็อาจจะเป็นเรื่องของคนเมืองไป ก็แล้วแต่เรามาดูกัน แต่ว่ารวมแล้วก็ ไม่ต้องมาดูที่ความหมายโดยตัวอักษร ก็คือความหมายโดยสาระ หรือด้วยอรรถะนี้ แน่นอนว่า การที่มนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญ ที่เรียกว่าอารยธรรมขึ้นมา ก็เพื่อความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ทั้งหลาย แต่ว่าอยู่กันไปอย่างนี้ อยู่ดีมีสุขหรือยัง?

เราก็อาจจะใช้คำต่างๆ เช่นคำว่า สันติภาพ สันติสุข เป็นต้น เสร็จแล้วเราก็บอก เวลานี้ก็ไม่ถึงซักที เป็นปัญหากันอยู่เรื่อยก็เท่ากับบอกว่า อารยธรรมนั้นยังไม่บรรลุผลสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น อันนี้ถึงว่าสังคมวงแคบเข้ามาของเรา ก็คือสังคมไทย ก็เป็นส่วนร่วมหนึ่งในโลกนี้ ที่ควรจะได้ไปทำหน้าที่ของตน ในการสร้างสรรค์อารยธรรม ในความหมายที่แท้จริง เพื่อจะให้มนุษย์อยู่ดีมีสุข ก็ต้องถามว่าสังคมไทยเรานี้ ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อย่างนั้นหรือเปล่า? ถ้าไม่มีส่วนร่วมก็เป็นเพียงว่า อาจจะเป็นเพียงผู้คอยรับผลน่ะ คอยรับผลก็ไม่ได้ทำอะไร ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ อาจจะไปถึงกับว่า ถ้ากระแสไม่ดีก็เลยไปพลอยร่วมทำลายกับเขา

ความจริงสังคมแต่ละสังคม แม้แต่บุคคลแต่ละคนนี้ ก็ควรจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมนี้ เราก็ต้องมาถามว่าสังคมของเราได้ทำหน้าที่นี้บ้างหรือเปล่า? โดยเฉพาะการที่จะหน้าที่นี้ได้ ก็แน่นอนว่า หน้าที่พื้นฐานก็อยู่ที่การศึกษานั่นเอง เพราะการศึกษานั้นเราบอกว่า สร้างคน สร้างมนุษย์ สร้างเสริมให้มีคุณภาพ ทำให้เป็นคนที่พร้อมที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคม ให้อยู่ดีมีสันติสุข อย่างน้อยก็ให้ชีวิตตัวเองนี่เป็นชีวิตที่ดีงาม มีความสุข ทีนี้การศึกษามีหน้าที่อย่างนี้ เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ พอสร้างคนนั้นแล้ว คนก็ไปทำอย่างอื่นๆ เรื่องการสร้างนี่เราก็เห็นชัด อย่างวิศวกรหรือสถาปนิก สถาปนิกออกแบบอาคารกุฏิวิหาร แม้แต่สะพาน วิศวกรมาคำนวณเป็นต้น เสร็จแล้วสถาปนิกก็ดี วิศวกรก็ดี ทำหน้าที่ก็ดี ไม่มีความรู้จริงก็ตาม หรือเจตนาไม่ประกอบด้วยความตั้งใจที่มีสติสัมปชัญญะรอบคอบเป็นต้น ทำไปแล้วปรากฏว่าสะพานนั้นอาจจะหัก หรือว่าอาคารสิ่งก่อสร้าง บ้านเรือนก็อาจจะพังทลาย แล้วก็เป็นภัยอันตราย อันนี้เป็นสิ่งที่มองเห็นกันอยู่ การก่อสร้างวัตถุเห็นง่าย แต่การก่อสร้างในทางนามธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของการศึกษานี่ มองไม่ค่อยเห็น แต่ที่จริงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก

ถ้าเรามองว่าการสร้างวัตถุ อย่างอาคารบ้านเรือนนี้ ยังเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีความระมัดระวังรอบคอบ มิฉะนั้นจะเกิดภัยอันตราย มากมายมหาศาล ทีนี้เมื่อเป็นการสร้างคนสร้างมนุษย์ ก็ยิ่งสำคัญมากมาย เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษานี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง กำลังทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ เราจึงพูดกันต่างๆ เช่นสร้างอนาคตของเด็กและเยาวชน สร้างคน ที่จริงก็คือสร้างสังคม สร้างทั้งโลกนั่นแหละ แล้วก็สร้างอารยธรรม การศึกษานี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด มีการสร้างอารยธรรม

ฉะนั้นทำยังไงจะให้การศึกษานี้ทำหน้าที่ให้ดี ก็เลยต้องให้ตระหนักกันว่า ผู้ที่สร้างคนนี่ ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะแม้แต่วิศวกรที่ไปทำหน้าที่ในการก่อสร้างบ้านเรือน สถาปนิกอะไรต่างๆเหล่านั้น ก็สร้างไปจากการศึกษาอีกทีหนึ่ง การศึกษาสร้างสถาปนิก สร้างวิศวกรที่ดี มีคุณภาพ มีสติปัญญา มีเจตจำนง มีคุณธรรมความดีงาม แล้วท่านเหล่านี้ ก็ไปช่วยกัน ไปสร้างสรรค์ ทำหน้าที่ของตนเอง และสร้างวัตถุต่างๆ ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม  เพราะฉะนั้นการศึกษานั่นน่ะ กลายเป็นฐานของทั้งหมดเลย เมื่อการศึกษามีความสำคัญอย่างนี้ เราก็ต้องมาวางฐานของสังคมด้วยการศึกษา มาสร้างคนกับสังคมด้วยการศึกษา ให้ดีที่สุด.

ทีนี้ เวลานี้ สังคมไทยของเราเนี๊ยะ มองดูไป เราอยู่ในภาวะอย่างไร? ถ้ามองดูที่มันมีปัญหาต่างๆ มากมายอย่างนี้ ดูกว้างๆแล้วเนี่ยะ มันกับว่าสังคมของเราเนี่ยะ อยู่ในกระแสอันหนึ่งของโลก หรือจะเรียกว่า กระแสอารย-ธรรมปัจจุบันก็ได้ กระแสนี้ไหลไปไหลไป แต่ว่ามันมีแหล่งที่ไหลมาอยู่เหมือนกัน ไทยเรานี่ดูเหมือนจะเป็นแหล่งที่รับกระแส แล้วพอกระแสมาแล้ว สังคมไทยเรานี้ก็ปรากฏว่า เป็นสังคมที่จะไหลไปตามกระแส หรือถูกกระแสพัดพา ถ้าไหลไปตามกระแสก็อาจจะเป็นด้วยตัวเองเนี่ยะ ไปนิยมชมชอบตามไป ถ้าถูกพัดพาก็หมายความว่า ถูกครอบงำ ไม่มีกำลังไม่มีความสามารถ แต่ทั้งสองอย่างนั้นก็คือ การขาดอิสรภาพ ไม่มีความเป็นอิสระ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ว่าในท่ามกลางทั้งหมดนี้ ที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ไหลไปตามกระแส แล้วก็ถูกกระแสพัดพาไป ก็คือกลายไปว่า เราไม่ได้มีส่วนร่วมในการที่จะปฏิบัติต่อกระแส สร้างกระแส หันเบนกระแส ปรับปรุงแก้ไขกระแส เราไม่ได้ทำหรือไง? เราได้แค่ไปตามหรือถูกพัดพา ถ้าอย่างนี้ก็เหมือนกับฟ้องว่า สังคมเรานี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมเลย

ถ้ากระแสนี่มันผิดมันไม่ดี เราก็ไปตามนี้ เราก็ถูกพัดพา อาจจะไปลงเหวรวมกับเขาด้วย ก็คือเสื่อมโทรมนั่นเอง อันนี้ข้อสำคัญที่จะเป็นอย่างนี้ นอกจากว่าไม่เป็นผู้สร้างสรรค์มีส่วนร่วมแล้ว ก็คือว่าไม่รู้ด้วย ไม่รู้ว่ากระแสนี้เป็นอย่างไร มาจากไหน? มันมีคุณมีโทษอย่างไร? สักแต่ว่าชื่นชอบบ้าง หรือถูกเค้าครอบงำ มันก็ไปเรื่อยไป แต่นี้ตัวสำคัญก็คือความรู้ เบื้องแรกที่จะแก้ไขปัญหาได้ ทำตัวให้มีความสามารถขึ้นมาร่วมสร้างสรรค์ จะต้องรู้จักกระแสนี้ก่อน เรารู้มั้ยว่ากระแสที่พัดมาถึงเราเนี่ยะ เราได้รับเอาไปด้วยอะไรเนี่ยะ มันคืออะไร? มันเป็นยังไง? มันมายังไง? มันไปยังไง? ต้นตอมันอยู่ที่ไหน? มีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง? อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องรู้ ปัญญาเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เกิดอิสรภาพ ถ้ามันไม่มีปัญญามันก็หมดอิสรภาพ ปัญญาความรู้ความเข้าใจจึงเป็นเรื่องใหญ่            นเรื่องทีสคญ

เวลานี้ สังคมของเรานี้ ถ้าดูไปดูไปแล้วในที่สุดแล้ว ไอ้ตัวเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถยืนหยัดขึ้นมา เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์เป็นต้น หรือว่าจะถูกครอบงำอะไรก็แล้วแต่ ไปตามทั้งหมดเนี่ยะ ตัวสำคัญมันอยู่ที่ปัญญา มันจะขาดความเข้มแข็งทางปัญญาด้วย มันขาดความเข้มแข็งทางปัญญาก็ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เมื่อไม่มีความมั่นใจ ก็เลยขาดความเข้มแข็งทางใจ ความเข้มแข็งทางจิตใจก็ไม่มี เมื่อขาดความเข้มแข็งทางจิตใจ พฤติกรรมที่ออกมา มันก็ไม่มีจุดหมายชัดเจน ก็สักแต่ว่าไปตามกระแสค่านิยมเป็นต้น พฤติกรรมก็ไม่เข้มแข็ง มันก็เลยอ่อนแอไปหมด เพราะฉะนั้นจะต้องมาช่วยกัน ในเรื่องของการพัฒนาปัญญา ทำสังคมไทยให้มีปัญญา ที่เข้มแข็ง ซึ่งไปๆมาๆก็คือ หน้าที่ของการศึกษานั่นเอง

ก็ปัญญาเป็นเรื่องของความรู้เข้าใจที่ชัดเจน ปัญหาของสังคมไทย เราก็ต้องการความรู้ เราก็บอก มีความรู้ เราก็สร้างปัญญากัน แต่ว่าอันหนึ่งที่น่าสังเกตคือ รู้ไม่ชัด อะไรๆเต็มไปด้วยความไม่ชัด รู้ไม่ชัด อะไรมายังไงก็ไม่ชัด แม้แต่เราไปชื่นชมนิยมอะไรก็ไม่ชัด อย่างที่เดี๋ยวนี้ไปชอบนิยมในอเมริกายังเงี๊ยะ นิยมอเมริกาก็ไม่รู้จักอเมริกาชัด มีคนพูดกันว่า เอ้า ไปนิยมอเมริกา ทำตามเขาฉาบฉวยผิวเผิน ที่ว่าฉาบฉวยผิวเผินนั้นก็คือ ถ้าพูดอีกภาษาหนึ่งก็คือ ไปเอาแค่เปลือก ฉาบฉวยผิวเผินก็คือเปลือก แล้วพอดูจริงๆ แม้แต่เปลือกของเขาก็ดูไม่ทั่ว เห็นเปลือกเค้าไม่ทั่ว เห็นเปลือกไม่ครบถ้วน ไม่ทั่วตลอด ไม่รอบด้าน เพราะฉะนั้นแม้แต่เปลือก ก็ยังรู้จักเค้าไม่จริงเลย ไปเห็นเปลือกบางส่วน แล้วก็ว่าไปตามอย่างนั้นเอง

ทีนี้ถ้ามันจะรู้ชัด มันจะต้องไม่รู้แค่เปลือก รู้เปลือกพร้อมแล้วมันก็ต้องรู้เนื้อในด้วย พอเนื้อในลงไป ตอนนี้ก็ลงไปถึงแก่นถึงแกน ลงไปถึงรากถึงฐานถึงเหตุปัจจัยที่สร้างสรรค์สังคมของเขามา สังคมอเมริกันนี้ มีรากฐาน มีความภูมิหลัง มีเหตุปัจจัย อย่างไร? นี่อันนี้ พอถามกันขึ้นมา เราก็ไม่ค่อยจะรู้ นี่ว่าไปถึงเหตุปัจจัยภูมิหลังรากฐาน มันก็มีหลายด้าน เช่นในด้านพลัง กำลังในด้านต่างๆ กำลังทางเศรษฐกิจทางสังคมทางการเมือง เป็นยังไง? แล้วก็ลงไปถึงเรื่องของสภาพจิตใจ ความต้องการ ความต้องการของสังคมอเมริกันเป็นยังไง? ลงไปจนกระทั่งถึงแนวคิด ความเชื่อ สังคมอเมริกันนี้เจริญขึ้นมาด้วย มีเหตุมีฐานทางความคิดมีแนวคิดความเชื่ออย่างไร? อันนี้ก็เป็นตัวกำกับ ตัวกำหนดสังคมของเขา ซึ่งถ้าเราจะนิยมตามเขา ก็ต้องรู้เข้าใจเขา แล้วถ้าเค้าผิด เราก็จะต้องแก้ไข ถ้าแก้ไขเค้าไม่ได้ก็ ไม่ตาม ก็แก้ไขตัวเรานั่นแหละ แก้ไขไม่ได้ก็เป็นปัญหาร่วมกันกับทั้งโลก ก็ต้องพยายามแก้ไขให้ได้

ปัญหาของความรู้ชัดนี่เรื่องใหญ่มาก คิดว่าน่าจะต้องย้ำกันในสังคมไทย เพราะว่าเอานิยมกันความรู้ แต่ว่าไม่ชัดสักเรื่องหนึ่งนมา มปู การหาความรู้ให้ชัดให้ถ่องแท้นี่ เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ารู้ไม่ชัดแล้วมันไม่ชัดไปหมด พอรู้ไม่ชัดก็คิดไม่ชัด เราบอก ต้องคิดให้ชัด แต่คิดให้ชัดต้องรู้ชัด เมื่อรู้ชัดก็มีทางคิดชัด  คิดให้ชัดเสร็จแล้วก็มา พูดให้ชัด พูดให้ชัดก็แสดงความเห็นเป็นต้น หรือสื่อสารอธิบายกัน ให้คนอื่นเข้าใจได้ชัดเจน ให้เห็นถ่องแท้กันไปเลย  แล้วต่อไปก็ทำชัดอีก ทำชัดก็เป็นผลมาจากต้องมีอื่นๆชัดมาหมดแหละ  ต้องรู้ชัด แล้วก็คิดชัด มันจึงจะทำชัดได้ แล้วทำชัดแล้ว นอกจากว่ามีฐานมาทั้งหมดว่า ชัดชัดชัดชัด มาแล้ว ก็ต้องชัดในหลักการด้วย ชัดในจุดหมายด้วย ว่าจะไปไหน? ไปเอาอะไร?  จุดหมายจะได้แน่วแน่ จะได้มุ่งมั่น น่าไป

สังคมไทยนี่มีลักษณะที่ มีข้อปัญหาสำคัญอันหนึ่งคือ ไม่มีจุดหมายร่วมกันของสังคม ทำให้กระจัดกระจายกันไปหมด เลยกลายเป็นแต่ละคนนี่เอาแต่ตัว ที่นี้ก็ในเมื่อสังคมเราไม่มีความชัดเจนในตัวเอง มันก็เลยหาจุดหมายไม่ได้ ตอนนี้หลักการก็ต้องชัด จุดหมายที่จะไปก็ต้องชัด พอได้จุดหมายชัดก็มีวิธีการที่ชัด วิธีการที่ชัดเจนก็นำไปสู่จุดหมายนั้น นี่ก็เป็นปัญหาของสังคมไทย ก็รวมอยู่ในเรื่องชัด  ในทางพระนั้นคำว่าชัดนี้เป็นความหมายของปัญญา เพราะปัญญานี้แปลว่า รู้ทั่วชัด ถ้าไม่รู้ทั่วชัด มันก็ไม่รู้ว่าเป็นปัญญาได้ยังไงนะ ให้มันชัดเจนขึ้นมา เพราะว่าไอ้ตัวอื่นมันก็รู้

อย่างทางพระท่านบอกว่า วิญญาณมันก็รู้ แต่มันไม่ชัดอย่างปัญญา เพราะว่าเรารับรู้อะไรต่างๆ เราเห็นเราได้ยินนี่ วิญญาณเกิดทันที แต่มันยังไม่เป็นปัญญา เป็นปัญญาก็ต่อเมื่อรู้เมื่อเข้าใจมันชัดเจน ชัดไปหลายๆขั้น ชัดว่ามันแยกแยะวิเคราะห์องค์ประกอบอะไรยังไง ชัดในเหตุปัจจัยมันศึกษามันเป็นมาอย่างไร? เป็นเพราะอะไรจึงเป็นอย่างนี้? มันมีคุณมีโทษอย่างไรเป็นต้นเนี่ยะ ให้มันชัดชัดชัดกันไปหมดเลย ถ้ามันชัดทุกส่วน ปัญญาก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ  ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ว่าสังคมไทยตอนนี้กำลังขาดความชัด ฉะนั้นจะให้มาชัดที่รู้ชัดก็คือปัญญา แล้วต่อไปจะได้คิดชัด พูดชัด ทำชัด แล้วอะไรต่ออะไรมันจะเดินหน้าไปด้วยดี แล้วก็เข้มแข็ง คนที่มีอะไรชัดเจนนี่ มั่นใจ แล้วเข้มแข็งแน่นอนเลย พอทำอะไรมันชัดเจน มันก็มั่นใจ มันก็เดินหน้าไปได้

อย่างกระแสของโลกเวลานี้ เราไปตามบางทีมันก็เรื่อยเปื่อยอย่างที่ว่า มันก็ไม่ชัดในกระแส ไม่รู้กระแสนั้นด้วยซ้ำ กระแสที่มีในโลกปัจจุบัน ที่เราไปเกี่ยวข้องก็มีกระแสหลายอย่าง เช่นกระแสความคิด อย่างกระแสความคิดในช่วงที่เป็นมาเวลานี้ ก็กำลังมามีกระแสว่า เออ เลิกเถอะนะ ไอ้แนวคิดแยกส่วน มาเป็นแนวคิดองค์รวม บอกว่าต้องมาองค์รวมแล้ว เป็น holism หรือ holistic view  พอมา holistic view อะไรต่างๆนี้ ก็น่าสังเกตอีกแหละ ก็จะต้อง คงจะต้องคอยๆติๆติงๆกัน ว่าจะเป็นอะไรก็ตามนี่ ต้องให้ชัดนะ เพราะว่าองค์รวมนี่ มันเป็นการที่ว่า เรากำลังจะผละความคิดแยกส่วน ไอ้ในความคิดแยกส่วนนั้นมี ความสำคัญอันหนึ่งก็คือ การวิเคราะห์ ทีนี้การวิเคราะห์นั้น เป็นการแยกแยะจำแนกออกไปให้เห็นชัด ซึ่งในแง่หนึ่งมันเข้าทีอยู่ เพราะว่าวิเคราะห์นี้มันแยกแยะทำให้เห็นชัด มันก็เป็นเรื่องของปัญญา เพราะฉะนั้นอย่าไปเลิกมัน บางทีเราจะไปสุดโต่ง กระแสของโลกก็มีความนิยมอย่างหนึ่ง ชอบไปสุดโต่ง ฝรั่งนี่ก็เถอะ ชอบไปสุดโต่ง ไปสุดทางโน้นแล้วก็ไปสุดทางนี้ และพอสุดทางโน้นแล้วก็ผละ ไม่เอาแล้ว ไปอีกทางหนึ่ง ทีนี้พอกระแสแยกส่วนมา บอกว่า โอ๊ย ที่แล้วมาวิธีวิทยาศาสตร์เป็นตัวการ ทำให้มนุษย์เรานำเอาอารยธรรมไปในแนวทางของความคิดแยกส่วน ไม่ดีไม่ถูกก็จะต้องมาองค์รวม

ทีนี้ องค์รวมๆนี่บางทีก็ไม่ชัดเป็นองค์รวมพร่าๆมัวๆ ยิ่งร้ายใหญ่เลย องค์รวมฺนี่ที่จริงมันอันเดียวกับวิเคราะห์ หรือแยกแยะ ในทางพุทธศาสนานั้น ให้ความสำคัญกับเรื่องการวิเคราะห์ เค้าเรียกว่าวิภัชชะ พุทธศาสนาเรียกชื่อหนึ่งว่าวิภัชชวาท1เลย แปลว่า หลักการแห่งการจำแนกแยกแยะ วิภัชชวาท เป็นชื่อของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง อย่างสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 นี่ จะสอบพระ ก็ใช้หลักนี้เลยว่า พระพุทธเจ้านี้เป็น วิภัชชวาที ถ้าพระองค์ไหนไม่รู้นี่ จับสึกเลย ฉะนั้นหลักการวิเคราะห์นี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่าไปดูถูก เดี๋ยวจะบอกว่าไม่ได้ความละ เราเลิกแล้ว ความคิดแยกส่วน เพียงแต่ว่าแยกให้มันถูก แยกให้มันชัดน่ะ วิเคราะห์ให้มันชัดๆๆๆไป แล้ว

1 http://210.86.210.116/chalengsak/units/unit1/chapter%208/borihanchit/yoniso10.html

          * ในการสังคายนาครั้งที่สามในศาสนาพุทธ พระโมคคลีบุตรติสสเถระถือว่า วิภัชชวาท เป็นอีกชื่อหนึ่งของนิกายเถรวาท แต่หลักฐานของจีนกล่าวว่านิกายปรัชญัปติวาท นิกายมหีศาสกะ และนิกายสางมิตียะ บางครั้งก็เรียกรวม ๆ ว่านิกายวิภัชวาทด้วย จึงอาจเป็นนิกายหนึ่งต่างหากที่แยกออกมาจากเถรวาท ส่วนหลักฐานฝ่ายทิเบตกล่าวว่า นิกายมหีศาสกะ นิกายกาศยปียะ และนิกายธรรมคุปต์แยกออกมาจากนิกายวิภัชชวาทนี้

อย่าไปอยู่กับชัดเดียว ไปอยู่กับชัดเดียวหมายความว่า แยกแยะกระจายไปแล้วฉันก็อยู่กับเรื่องชองฉันอันเดียวนี่ ไม่เอาไหนละ ทีนี้มันก็เลยทำให้ยุ่ง ทีนี้วิเคราะห์ของท่านนี่สำคัญก็คือ ท่านไม่ลืม อะไรที่ทำให้ไม่ลืม ทำให้องค์รวมไม่หาย ก็คือความสัมพันธ์ และเวลาวิเคราะห์ออกไปนี่ จะต้องมองความสัมพันธ์ไปตลอดเวลา พอวิเคราะห์อันนี้แยกออกไปปั้บ ต้องมองเลยว่าอันนี้มันสัมพันธ์กับอันโน้น ที่อยู่รอบตัวมันยังไง ถ้ายังงี้แล้ว การวิเคราะห์หรือจำแนกแยกส่วนเนี่ยะ ไม่เสีย เพราะว่าแยกไปก็ยิ่งเห็นความสัมพันธ์ ยิ่งเห็นความสัมพันธ์มันก็เห็นองค์รวม องค์รวมไม่หายเลยถ้าเราแยกแยะแบบให่เห็นความสัมพันธ์

          เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องความสัมพันธ์ หลักความสัมพันธ์เนี่ยะ คัมภีร์ในอภิธรรม คัมภีร์สุดท้าย ท่านเรียกว่า ปัฏฐาน2 มี 6 เล่ม อันนั้นพระคัมภีร์ว่าด้วย ลักษณะแห่งความสัมพันธ์แบบต่างๆ 24 แบบ

            2https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8F%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99

สิ่งทั้งหลายเมื่อจำแนกแยกแยะออกไปแล้ว ต้องรู้ความสัมพันธ์ ถ้าแยกอย่างเดียวแล้ว มันก็กระจายหายไป แต่พอแยกแล้วเห็นความสัมพันธ์เนี่ยะ มันไม่แยกกระจัดกระจายหรอก เพราะว่าความสัมพันธ์มันเป็นตัวโยงกันอยู่ แล้วเราก็จะเห็นภาพรวม เพราะว่าตัวภาพรวมที่ชัดก็เกิดจากมองเห็นองค์ร่วมชัด เมื่อองค์ร่วมไม่ชัด องค์รวมก็ไม่ชัด เมื่อเห็นความสัมพันธ์ขององค์ร่วมชัด ก็คือการเห็นองค์รวมชัดนั่นเอง ฉะนั้นองค์รวมกับองค์ร่วมต้องไปด้วยกัน อันนี้เวลานี้ก็กลายเป็นว่า บางทีเหมือนกับว่า เอ๊ ไปเน้นข้างหนึ่ง จะเลิกแยกส่วน ก็จะเอาองค์รวม พอเอาองค์รวมก็เป็นองค์รวมที่พร่าที่คลุมเครือ ที่มัวอีก ก็จะไปไม่รอดอีก ก็จะกลายเป็นสุดโต่ง คนสมัยก่อนเค้าก็องค์รวมมาแล้ว บางทีเราก็ไปติเพราะว่า ก็องค์รวมแบบพร่าๆมัวๆ องค์รวมแบบพร่าๆมัวๆก็เป็นเหตุให้ต้องมาวิเคราะห์ วิเคราะห์ไปวิเคราะห์ไปก็ลืม แยกส่วนกระจายหายไปในด้านของตนของตน ก็เลยไม่ได้องค์รวมอีก

          ทีนี้ถ้าว่าให้พอดีก็คือว่า ไปด้วยกันทั้งองค์ร่วมองค์รวมทั้งวิเคราะห์และรวม จะเรียกว่าสังเคราะห์ก็ได้ เพราะสังเคราะห์นั้นมันไปเป็นอีกขั้นหนึ่ง หมายความเราเห็นองค์รวมชัด แล้วทีนี้ เราจะสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ เราก็ทำได้แหละ เพราะว่าเราเห็นองค์ร่วมชัด เราจะจัดสรรทำอะไรต่ออะไร มันก็ได้ผลขึ้นมา

ฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่ กระแสแม้แต่ความคิด เรื่องกระแสทางปัญญาโดยตรง นี้ก็มีปัญหากันอยู่ เพราะฉะนั้นก็คิดว่า เราต้องเป็นตัวของตัวเอง สังคมไทยก็ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ใช่ว่าจะต้องไปตามกระแส แต่ว่าต้องรู้จักกระแส รูจักกระแสให้ชัดเจน แล้วก็มีส่วนร่วมในการปรับในการแก้กระแส หรือถ้าเก่งจริงก็มานำกระแสด้วย เอ๊ะ คนไทยนี้ก็น่าจะมีความสามารถนำกระแสที่ดีได้ ในเมื่อรู้อยู่แล้ว กระแสปัจจุบันนี่เป็นกระแสที่ผิดพลาด เป็นกระแสที่มีปัญหาเยอะ เวลานี้เราก็พูดกันถึงกระแสแนวคิด กระแสแนวคิดทุนนิยม ระบบธุรกิจหาผลประโยชน์ กำไรสูงสุด อันนี้ก็ไปสุดโต่งแบบหนึ่ง

แล้วมากระแสความคิดในเชิงปัญญา อย่างที่ว่าเมื่อกี้ องค์รวมอะไรต่างๆเหล่านี้ กระแสแนวคิดอะไรต่างๆเหล่านี้ ในเมื่อมันมีปัญหา มันก็ต้องมีการแก้ไข ถ้าเราจะแก้ไขเราก็ต้องมีอะไรที่ชัดเจนของเรา ถ้าเรามีของเรา เราก็จะเกิดความมั่นใจ แล้วเราก็จะมีความสามารถขึ้นมา มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรม หรือแม้กระทั่ง อาจจะต้องนำบ้าง ถ้าเขาไปกันผิดทาง ก็ต้องมีผู้นำขึ้นมา และคนไทยเราก็มีศักยภาพ คิดว่าเราน่าจะพัฒนากันขึ้นมา ถ้าเอาศักยภาพนี้ขึ้นมา เราก็ต้องดูตัวเองว่า เรามีข้อดีอะไรบ้าง?

ถ้าไปๆมาๆกลายเป็นว่า ไม่รู้จักสังคมเขา กระแสภายนอกที่เราตามแล้ว ตัวเองเราก็ไม่รู้จัก สังคมไทยของเราเป็นยังไง มีดีอะไรเราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของความไม่ชัดทั้งหลายที่จะต้องแก้ไข เราก็มาพัฒนาปัญญา ในแง่เริ่มตั้งแต่ความรู้ชัด รู้อะไรก็ต้องรู้ให้จริงให้ถ่องแท้ ต้องค้นคว้ากันจริง อย่างจะเรียนภาษาอังกฤษน่ะ ก็เรียนทำไม? ให้รู้ภาษาที่สำคัญกำลังไปทั่วโลก ภาษาอินเตอร์เน็ต ภาษาระบบของคอมพิวเตอร์ cyber space มันก็เป็นภาษาของเรื่องภาษาอังกฤษ กำลังเป็นภาษาสากล ในที่นี้ก็จะเรียนภาษาอังกฤษ เอาละ ภาษาอังกฤษจะต้องรู้ ทีนี้จะต้องรู้นี่ ต้องรู้กันขนาดไหน จะรู้สำหรับแค่ไปซื้อสินค้า หรือจะรู้ขั้นไปเป็นนักค้นคว้า อันนี้ก็ต้องถามกันแล้ว ถ้ารู้แค่ไปซื้อสินค้ามาเสพมันก็ไม่ค่อยได้เรื่องอะไรนะ ก็เค้าก็ขายสินค้าของเค้าอยู่ เราก็เป็นนักซื้อ เอ่อ รู้พูดภาษาอังกฤษพอไปซื้อสินค้ามาเสพได้

ทีนี้ถ้ามันรู้จะให้ดี มันจะต้องรู้ถึงขั้นค้นคว้า ไอ้ค้นคว้ามันก็มีด้านหนึ่ง ค้นคว้าหาความรู้ที่จะมาผลิตสินค้าซะเอง แทนที่จะไปซื้อสินค้าคราวนี้ก็รู้ถึงขั้นผลิต ไปหาวิธี ไปเรียนวิธีเขา รู้วิธีในการผลิต ทีนี้ผลิตสินค้าเองเลย ฉะนั้นถ้ารู้แบบที่ 2 นี้ รู้ขั้นค้นคว้า แล้วค้นคว้าหาความรู้มาผลิตสินค้าเอง ตอนนี้ล่ะจะเก่ง แต่ทีนี้ว่า บางทีเราก็อาจจะต้องจำเป็นให้ความสำคัญมากในแนวเดียว ในแนวดิ่ง ก็ภาษาอังกฤษนี่ก็เป็นประโยชน์ มความสำคัญในขอบเขตหนึ่งก็ให้ความสำคัญแต่พอดี ว่ากันไปแล้วเราก็คงต้องดูด้วย อย่างเราบอกว่า ต้องการความเจริญทางเทคโนโลยี เวลานี้เรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหญ่ เราก็บอกว่าจะต้องรู้ อย่างที่ว่าภาษาทางเทคโนโลยีไอทีเป็นภาษาอังกฤษเนี่ยะ และแล้วในบางทีเราก็ไปตามอเมริกากัน รู้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเป็นต้น

แต่มองอีกทีหนึ่งเนี่ยะ เราน่าจะดูประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษด้วย ที่เขาเจริญทางเทคโนโลยี ก็ง่ายๆก็อย่างญี่ปุ่นน่ะ ญี่ปุ่นก็ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ แต่ก็เจริญทางเทคโนโลยีนี่ บางทีในบางด้านบางเรื่องก็นำอเมริกาด้วยซ้ำ  แล้งอังกฤษนี่ ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ ทำไมมีความรู้ทัน อันนี้เราก็จะต้องไม่ดูเฉพาะอเมริกัน ต้องดูญี่ปุ่นด้วยว่า ญี่ปุ่นเขาสร้างสรรค์ความเจริญ เค้าพัฒนาปัญญาคนของเขาอย่างไร? เค้ามทีแง่ปฏิบัติต่อเรื่องเทคโนโลยีอย่างไร? ทำไมตำรับตำราอเมริกันออกมาปั้บ ไม่เท่าไหร่เลย ตำราญี่ปุ่นออกมาเป็นภาษาญี่ปุ่นในเรื่องนั้นแม้แต่เทคโนโลยีได้ และคนญี่ปุ่นก็รู้ทันฝรั่ง ทั้ง ๆที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ทำไมทำได้?

ทีนี้ถ้าเราเอาแต่ว่า ให้นักเรียนไทยรู้ภาษาอังกฤษ เสร็จแล้วแต่ละคนรู้เป็นเป็ดไปหมดทั้งประเทศ จะเป็นยังไง ก็เลยไม่ได้เรื่องสักคนหนึ่ง ทีนี้บางประเทศเค้าเอาแบบนี้ เท่าที่ทราบน่ะ อย่างญี่ปุ่นนี่ เค้าเอาคนกลุ่มเดียว รู้ภาษาอังกฤษให้รู้ให้จริงเลย รู้จริงแท้แล้วมีหน้าที่พิเศษ นโยบายของรัฐก็ส่งเสริมเข้าไป ตำราฝรั่งอะไรออกมานี่ กลุ่มคนที่รู้ดี ภาษาอังกฤษเนี่ยะ แปลออกมาทันทีทันควันเลย เดี๋ยวเดียวคนญี่ปุ่นได้รู้ ความคิด วิทยาการที่เจริญก้าวหน้าของฝรั่ง ทันทีทันควัน ด้วยภาษาญี่ปุ่นนั่นแหละ ทีนี้ถ้าเราจะให้คนทั้งประเทศไปรู้ทันวิทยาการของฝรั่ง ทั้งประเทศนี่ เราอาจจะหนักเหลือเกิน หรือทำไม่สำเร็จก็ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา คงจะต้องเป็นเรื่อที่จะต้อง มาคิดแยกแยะกันเยอะ

แต่ว่ารวมความก็คือเป็นเรื่องของ กระแสต่างๆที่เข้ามา ที่เราจะต้องรู้เท่าทัน แล้วจุดสำคัญเริ่มแรกก็คือ ความรู้ชัด ความรู้ชัด แล้วความรู้ชัดนี่มันหนีไม่ได้กับไอ้เรื่องเรื่องการจะวิเคราะห์ แยกแยะองค์ประกอบ สืบสาวเหตุปัจจัย เป็นต้นน่ะ ฉะนั้น แม้แต่มาสู่กระแสความคิดองค์รวมแล้ว ก็คงจะทิ้งไม่ได้เรื่องการวิเคราะห์ เป็นแต่เพียงว่า จะทำยังไงให้แนวคิดแยกส่วนกับแนวคิดองค์รวมเนี่ยะ มันเป็นความคิดที่พอดี ซึ่งที่จริงมันไม่ถูกนั่นเอง ถ้าเป็น 2 อย่างนี่มันคือสุดโต่ง ทำไงให้มันพอดี มาประสานกัน ซึ่งที่จริงธรรมชาติมันไม่ได้แยกกันหรอก วิเคราะห์ออกไปมันก็สัมพันธ์กันอยู่ ยิ่งเราไปเห็นองค์ประกอบย่อย แล้วก็มองดูทั่วไป ตามันดูเราก็เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับองค์ประกอบอื่น ซึ่งองค์ประกอบอันเดียว อาจจะไปสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นอีกตั้งเป็นร้อย ซึ่งอันเนี่ยะจะต้องศึกษากันมากมาย แต่นี่เราก็ไปวิเคราะห์พยายามรู้สึก อ่า รู้จักเฉพาะสิ่งนั้นๆเท่านั้น ไม่ได้มองความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ก็ทำให้ความเป็นองค์รวมนั้น ขาดหายไป ทีนี้ถ้ามองความสัมพันธ์ไป มันก็เห็นองค์รวมไปในตัวเสร็จ เพราะฉะนั้น ความคิดวิเคราะห์แยกแยะแยกส่วน และความคิดเป็นองค์รวมนี้ ในที่สุดเป็นอันเดียวกัน คืออันเดียวกันนั่นแหละ ถ้าทำให้ชัด ก็จะรู้ชัดไปด้วยกัน

ก็ไม่น่าจะมีปัญหาตัวเองเรื่องไปสุดโต่ง เหมือนอย่างที่เคย สังคมก็เป็นอารยธรรมสุดโต่งมาแล้ว อย่างสุดโต่งทางจิต มาในสังคมยุโรป ตลอดสมัยกลาง เป็นพันปี เสร็จแล้วไปสุดโต่งทางจิต ไปทาง spiritual เสร็จแล้วก็ผละมาทางวัตถุ วิทยาศาสตร์บอก ไม่เอาละทางจิตใจ ไม่ได้เรื่อง จริง ก็เลยหันมาทางวัตถุเต็มที่ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติก็หมายถึงวิทยาศาสตร์วัตถุนั่นเอง ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติครบน่ะ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติครบธรรมชาติ มันก็ต้องมีทั้งด้านวัตถุทั้งจิตใจนามธรรม แกบอกแกเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ความจริงแกเป็นวิทยาศาสตร์วัตถุเท่านั้นแหละ แกก็ว่าไปเต็มที่ เลยทางวัตถุอย่างเดียว จนสุดโต่งมาถึงตอนนี้ เอาอีกแหละ เกิดปัญหาเริ่มมีคนที่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์ ก็หันไปทางจิตใจ ไปโน่น ค้นคว้าไปทางจิตใจมาก มีกระบวนการต่างๆเกิดขึ้นใน ตะวันตกเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1950 เรื่อยมา ก็มีกระแสใหม่ๆอย่างนี้ ก็ต้องระวัง รวมแล้วก็คือเราก็ตามดูอยู่อย่างรู้เท่าทัน ว่าสังคมตะวันตกเป็นยังไง ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปชื่นชมนิยมตาม แต่รู้เท่าทันนี่สำคัญ ต้องทันเลยสังคมตะวันตก อเมริกันเป็นยังไง? พลาดยังไง? เผลอยังไง? ออกนอกทางไปยังไง? ไปสุดโต่งยังไง? เราก็น่าจะเป็นตัวของตัวเอง ความรู้ชัดจะทำให้เราเกิดอิสรภาพ เพราะว่าอิสรภาพจะมาด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญามันก็อิสรภาพไม่เกิดขึ้น ปัญญาเรียกว่าเป็นตัวปลดปล่อย เอาล่ะ เราชอบใช้คำว่าปลดปล่อย เราไปปลดปล่อยทางสังคม เราไปปลดปล่อยอะไรกันเยอะ แต่ปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากอำนาจกิเลส อวิชชา ความมืดบอด ก็คือต้องเอาปัญญามาปลดปล่อย เอาปัญญามาเป็นตัวปลดปล่อยไป ปลดปล่อยจิตใจด้วย ทำให้หลุดพ้น จนกระทั่งหลุดพ้นกิเลสและความทุกข์ไปได้

ตกลงว่าเป็นปัญญานี้ก็มาเป็นองค์ประกอบร่วม ซึ่งในที่สุดแล้วก็อยู่ในระบบแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์เรานั่นเอง ซึ่งเราก็มี หนึ่ง ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุธรรมชาติ ทางสังคม ด้วย กายวาจาและด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย เรียกว่าอินทรีย์ นี่ก็สัมพันธ์กันไป แล้วก็เบื้องหลังของความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ออกมาเป็นพฤติกรรม และการสื่อสาร ด้วยอินทรีย์นั้น ก็จะมีจิตใจ จิตใจที่เป็นผู้นำ เป็นผู้นำซึ่งประมวลคุณสมบัติของมัน แสดงออกมาที่เจตนา หรือเจตจำนง จิตใจก็แสดงออกที่เจตจำนง  เจตจำนงนี่ก็เป็นตัวนำพฤติกรรม ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมไป สัมพันธ์ในทางที่เป็นบวกเป็นลบ ในทางที่เป็นเกื้อกูลหรือเป็นการทำลายก็ได้ ก็อยู่ที่เจตจำนง เจตจำนงที่ประกอบด้วยทิฏฐิ แนวคิด ความเชื่อยังไง เจตนาอย่างไร ก็จะเป็นตัวนำไป  ทั้งนี้ก็อยู่ภายใต้การส่องทางของปัญญา ส่องปัญญาก็จะมาช่วยขยายเบิกช่องทางให้ ปรับแก้ให้ ทำให้ผ่านพ้น แก้ปัญหาไปได้อย่างแท้จริง

นี้ก็คือเข้าหลักที่ว่า องค์ประกอบ 3 ด้าน แห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ นั่นเอง ก็คือ หนึ่ง ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ทางสังคม ด้วยกายวาจาและอินทรีย์ เรียกว่า พัฒนาให้เป็นศีล แล้วก็เรื่องของจิตใจ ที่ออกมาทางเจตจำนง หรือเจตนา นำพฤติกรรม แล้วก็นำความเป็นไปของโลก โดยเฉพาะสังคมมนุษย์นี้ ให้เป็นไป ตามกรรมของมนุษย์ คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา นี้ก็เป็นการพัฒนาในด้านจิตใจ ซึ่งเราถือว่าสมาธิเป็นแกนสำคัญ แล้วในที่สุดต้องมีปัญญา ปัญญาที่จะเป็นตัวรู้ เป็นตัวแก้ ตัวปรับพฤติกรรม เป็นตัวแก้ตัวปรับจิตใจ ทั้งหมด จนกระทั่งปลดปล่อยให้เป็นอิสระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น